ความยุติธรรมหมายถึงอะไรในด้านกฎหมาย ?

ความยุติธรรมเปรียบเสมือนหัวใจของกฎหมายที่จะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะกฎหมายดำรงอยู่ได้ด้วยความยุติธรรม และกฎหมายจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อสังคมเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่มีความยุติธรรมอีกต่อไป. ในขณะเดียวกัน การใช้ความยุติธรรมต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นและสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามได้. ในทางตรงกันข้าม ความอยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อความเท่าเทียมกันถูกทำให้ไม่เสมอภาค และเมื่อความไม่เท่าเทียบ แฝงทำให้กลายเป็นความเท่าเทียมกัน.

ความยุติธรรมประกอบด้วย 3 ลักษณะ ดังนี้

1) ความถูกต้อง: กฎหมายถือเป็นกติกาของสังคม เมื่อผู้ใดไม่ได้ทำผิดกติกา ก็ย่อมถือว่าได้ทำถูกต้องแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่าความถูกต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องชี้นำ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ความยุติธรรมจำต้องมีความถูกต้องตามกฎหมาย.

2) ความชอบธรรม: เมื่อรัฏฐาธิปัตย์ได้รับอำนาจ การใช้อำนาจต้องเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ อันกระทำตามหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) ของอริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณ โดยถือว่าความยุติธรรมอันเป็นสากลไม่ขึ้นอยู่กับมาตราการที่มนุษย์ตกลงกำหนดขึ้น หากสิ่งใดที่เป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ผู้ใดก็มิอาจจะลิดรอนได้. ความยุติธรรมจึงต้องสอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อไม่เป็นการตัดทอนความเป็นธรรมอันมนุษย์พึงต้องมี.

3) ความมีเหตุผล: ตามตรรกวิทยากฎหมาย คือการใช้เหตุผลเพื่อให้สังคมเกิดความยอมรับและรับฟังในเหตุผลได้ โดยต้องมีความสัมพันธ์ ที่คล้อยตามกันในทางความคิดที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ด้วยสติปัญญา ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึก. หากความยุติธรรมปราศจากเหตุผลบุคคลในสังคมย่อมขาดความเชื่อมั่นในความยุติธรรม.

ลักษณะทั้งสามนี้เป็นส่วนประกอบของความยุติธรรมซึ่งหากขาดลักษณะใดลักษณะหนึ่งไป ความยุติธรรมนั่นย่อมไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง. ตัวอย่างเช่น ตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยุติธรรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม” (“justice delayed is justice denied”) มีความหมายว่า ถ้ากฎหมายจัดให้มีการเยียวยาผู้เสียหาย แต่การเยียวยานั้นมาไม่ทันกาล ส่งผลให้ผู้เสียหายและสังคมไม่มีความยอมรับในความยุติธรรม ก็ถือว่าไม่แตกต่างกับการที่ไม่ได้เยียวยา. โดยการนี้ตั้งอยู่บนสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีความอย่างไม่เชื่องช้า ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ความยุติธรรมที่ล้าช้าไม่สมเหตุสมผลต่อการเยียวยาผู้เสียหาย ถือว่าเป็นความยุติธรรมอันไม่สมบูรณ์.

ดังนั้น ความยุติธรรมจึงมีความหมายว่า ความถูกต้องอันชอบด้วยธรรมและชอบด้วยเหตุผล ตามหลักกฎหมายธรรมชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมและต้องสอดคล้องกับกฎหมาย. ถ้ากฎหมายเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ บทบัญญัติหลักกฎหมายเปรียบเสมือนสมอง และความยุติธรรมก็คือหัวใจของมนุษย์ที่ทำให้กฎหมายดำรงอยู่ ซึ่งหากกฎหมายขาดความยุติธรรมไป กฎหมายย่อมมิสามารถคงอยู่ต่อไปได้.

https://pixabay.com/en/hammer-horizontal-court-justice-802301/

ขอบคุณสำหรับการอ่านครับ ถ้าชอบก็อย่าลืมกดปรบมือ หรือแชร์บทความนี้ด้วยนะครับ 👏🏻👏🏻👏🏻👏🏻

--

--

Vichyapoo K. (วิชญภู กิตติคุณปกรณ์)

(Pronounced Vich-ya-bhu) A Bangkok-based paralegal who writes whenever the mood strikes. For memes and musings, follow along on Instagram @earthdedo